สัมภาษณ์คุณเก๋ (๔ เมษายน ๒๕๖๔)
เรานัดพบคุณเก๋ เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. ที่บ้านพักของคุณเก๋ เมื่อเราทั้งสี่คนย่างเท้าเข้าบริเวณบ้านของคุณเก๋ก็รู้สึกถึงความร่มรื่นของต้นไม้และสวนหย่อม เมื่อเดินขึ้นบันไดมาสายตาก็พามาพบกับกี่ทอผ้าที่ตั้งตระหง่านอวดผู้มาเยือนว่า ปทุมธานีนี้มีคนทอผ้าจริง ๆ รวมไปถึงหุ่นที่ห่อหุ้มด้วยชุดไทยอย่างเก๋ไก๋ฝีมือการตัดเย็บประณีตและที่สำคัญคงเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะเป็นผ้าทอใยกล้วยผืนผ้าจากธรรมชาติ
เราทุกคนยกมือไหว้หญิงสูงวัยซึ่งต่อมาทราบว่าคือคุณแม่ของคุณเก๋กำลังให้ช่างทำผมดัดผม เป็นช่างทำผมพื้นบ้านที่ต้องอัธยาศัยกันเพราะสังเกตจากการสนทนาพูดคุย คือคุณป้าสำเภาซึ่งนอกจากจะมีอาชีพทำผมแล้ว ยังมีพืชผักผลไม้ที่ปลูกเองมาจำหน่ายด้วย สักพักคุณเก๋ขับรถผ่านมาแล้วลดกระจกรถลงบอกพวกเราว่า ขอตัวไปส่งลูกสาวฝาแฝดไปเรียนพิเศษก่อนนะคะ เราจึงได้นั่งชื่นชมบรรยากาศโดยรอบอย่างเพลิดเพลินพร้อม ๆ แว่วเสียงสนทนาของผู้สูงวัยทั้งสอง
เมื่อคุณเก๋มาถึง เราทุกคนแนะนำตัว แล้วบทสนทนาหลังจากนี้ก็พรั่งพรูกร้อมรอยยิ้มที่ผู้ฟังอย่างเราประทับใจ
เมื่อเรียนจบคุณพ่ออยากให้คุณเก๋อยู่บ้านเฉย ๆ เพราะเป็นลูกสาวคนโต แต่ด้วยความที่ไม่อยากอยู่บ้านเฉย ๆ จึงตัดสินใจไปเรียนตัดผ้า เมื่อเรียบจบก็ไม่กล้าตัดเสื้อผ้าเพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้กลัวโดนว่าโดนตำหนิ แต่คนที่ทำให้คุณเก๋เปลี่ยนความคิด คือ พี่สาวคนหนึ่งซึ่งเป็นคนที่คุณเก๋รัก เพราะคิดเองว่าถ้าตัดเสื้อผ้าให้คนที่รักก็ไม่น่าจะถูกตำหนิอะไร และนั่นคือก้าวแรกของคุณเก๋ ผลงานชิ้นแรก คือ กระโปรงสีเขียว ค่าแรง ๗๐ บาท เมื่อญาติผู้ใหญ่เห็นฝีมือถึงกับออกปากว่า ฝีมือแบบนี้ต้องเข้ากรุงเทพฯ เท่านั้น นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้คุณเก๋ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้ววันหนึ่งเมื่อคุณเก๋ไปร้านตัดผ้าของเพื่อนแล้วแอบเห็นดีไซน์เนอร์วาดแบบชุดสวยบาดตา ทำให้คุณเก๋อยากทำได้บ้าง เพราะตัวเองยังวาดแบบไม่ได้ต้องคอยจดคอยจำแบบต่าง ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ จึงเกิดความคิดและตัดสินใจไปเรียนดีไซน์เนอร์ เพื่อให้การทำงานผ้าสมบูรณ์แบบและเบ็ดเสร็จ
เย็บผ้า®สร้าง®แพตเทิร์น®ทอผ้า®แตกฉาน สร้างสรรค์ผลงงาน สร้างช่างเย็บผ้าสามารถต่อยอดผลงาน และช่วยให้คนอื่นมีงานทำ เพราะการทอผ้า ทำให้คุณเก๋รู้ว่าจะปิดจุดด้อยของการตัดเย็บอย่างไร ทำให้เสื้อผ้าของคุณเก๋มีความโดดเด่นสวยงามและที่สำคัญคงทนใส่ได้นาน
คุณเก๋เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่การทำเสื้อผ้าโชว์ที่เวิร์กพอยต์ และสานต่อความฝันของคนรัก “ผ้า”
“กำไร คือ สิ่งดี ๆ ที่เราได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้านของเรา นั่นคือ ความสุข”
“ความฝัน รักผ้าไทย ทำอย่างไร ทำให้ผ้าคงอยู่”
“มีเสน่ห์ รักผ้า เข้าใจผ้า”
“จากชุมชนที่ทอผ้าไม่เป็น แต่เราทำให้กระแชงเป็นที่รู้จัก”
ประโยคเหล่านี้ คือสิ่งที่คุณเก๋พูดขึ้น ลึกซึ้งและมุ่งมั่น
เริ่มจาก ๒ กี่ ปัจจุบัน ๗ กี่ เส้นทางของผ้าทอที่สร้างมูลค่า ถักทอชีวิต ต่อเติมความฝัน และอีกหลายชีวิตที่ส่งพลังให้คุณเก๋ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนา
“ชะตาพาเราไปเรียนรู้ที่อื่น เพื่อให้เรากลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเรา ให้กระแชงเป็นที่รู้จัก ให้ปทุมธานีเป็นที่รับรู้ของคนทั้งประเทศว่าที่นี่จังหวัดนี้นี่คือถิ่นฐานของภูมิปัญญา”
นอต&นิค&ผึ้ง&แนน