Otopber -> กำนันสมาน สวัสดิ์เฉลิม
xxxxx



การดำเนินงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) มีจุดประสงค์สำคัญประการหนึ่ง คือ การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการโดยมีมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือในทุกภาคส่วน ในขั้นตอนแรกของการดำเนินโครงการพวกเราคณะทำงาน U2T รายตำบลกระแชง สามโคก จังหวัดปทุมธานีต้องดำเนินงานประเมินศักยภาพชุมชนเสียก่อนเป็นลำดับแรก พวกเราลงพื้นที่ไปตามหากลุ่มคนจนเป้าหมาย และพบศักยภาพของชุมชนกระแชงในด้านต่างๆ ว่าชุมชนกระแชงที่สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ผู้คนในชุมชนกระแชงมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการจากการทำธุรกิจชุมชนหลายอย่าง ที่สำคัญพวกเราพบการรวมกลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งมีผู้นำชุมชนที่โดดเด่นอย่างกำนันสมาน สวัสดิ์เฉลิม 



นายแพทย์ประเวศ วะสีได้กำหนดเป้าหมายที่แต่ละตำบลจะต้องพัฒนาให้ชุมชนกระแชงเป็นตำบลที่มีความยั่งยืนจำนวน 16 ประการ ประกอบไปด้วย 1.องค์กรชุมชน ตำบลมีสมรรถนะในการจัดการสูง 2.การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม 3.ความสามารถวิเคราะห์รายรับ - รายจ่าย 4.สัมมาชีพเต็มพื้นที่ 5.เกษตรทฤษฎีใหม่ 6.สระน้ำประจำครอบครัว 7.การจัดการวิสาหกิจ 8.การฝึกอบรมด้านสังคม 9.การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 10.ตำบลปลอดภัย 11.การพัฒนาคุณภาพ 12.ระบบสุขภาพตำบล 13.ศูนย์การเรียนรู้ตำบล 14.ระบบความยุติธรรมชุมชน 15.ระบบสื่อสารชุมชน 16.ตำบลทำความดี เป้าหมายจำนวน 16 ประการนอกจากจะเป็นแนวทางที่ที่คณะทีมงานที่จะต้องบรรลุแล้ว พวกเรายังพบว่า ตำบลกระแชงมีการขับเคลื่อนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 16 ประการอยู่แล้วโดยกำนันสมาน กำนันได้เริ่ม และพัฒนาให้ตำบลกระแชงเกิดความยั่งยืนไว้บางแล้ว พวกเราจึงรู้สึกขอบคุณกำนัน และคณะทีมงานของกำนันเป็นอย่างมาก และเกิดกำลังใจที่จะต่อยอดและฟื้นฟูสิ่งที่กำนันสมานได้เริ่มไว้ให้กับชุมชนกระแชง



กำนันสมาน สวัสดิ์เฉลิมเริ่มต้นอาชีพการทำงานเพื่อชุมชนด้วยการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านพร้อมๆ ไปกับตำแหน่งกำนันในปี พ.ศ. 2550 คณะทำงานที่เคียงบ่าเคียงไหล่มาด้วยกัน อาทิ นางจันดอน พุ่มคำ นางสมประสงค์ คอยผล นางสมนึก เทียนไข โครงการพัฒนาที่กำนันสมานเริ่มต้นมาจากการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนแม่ของแผ่นดิน ด้วยจุดประสงค์ของโครงการเป็นแรงผลักดันให้กำนันสมาน และทีมงานคิดถึงการทำงานเพื่อชุมชน พวกเขาเริ่มต้นจากการไปศึกษาดูงานตามศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดต่างๆ อาทิ เพชรบูรณ์ อยุธยา ปราจีนบุรี เมื่อสะสมความรู้เพียงพอแล้ว พวกเขาตกลงใจที่จะเลี้ยงไข่ไก่สมุนไพรเพราะพวกเขาพบความต้องการของชุมชนในตอนนั้นว่า ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ทางแก้ไขที่ดีควรเริ่มต้นจากอาหารการกิน และสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกาย ต่อมากำนันได้ตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านท่าลานเพื่อให้ความรู้ด้านเลี้ยงไก่ไข่สมุนไพรแก่ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่มีความสนใจในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรม และแสวงหาสัมมาชีพในพื้นที่ 



นอกจากนี้กำนันสมานและทีมงานยังได้ทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชนนอกเหนือไปจากเรื่องปากท้อง อาทิ 

ก.การจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา 

กำนันสมาน พร้อมทีมงานได้นำเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินที่ทอดผ้าป่าเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จำนวน 300,000 บาทมาถมที่ดิน ซึ่งในปัจจุบันได้เป็นสถานที่อำนวยให้เกิดประโยชน์สาธารณะในปัจจุบัน


ข.การทำงานเกี่ยวกับเรื่องระบบความยุติธรรมในชุมชน 

กำนันสมาน พร้อมคณะทีมงานทำงานในเชิงรุกทันทีเมื่อเห็นชาวบ้านเกิดความทุกข์ คณะทีมงานได้ออกบริการคลีนิกคลายทุกข์เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ของชาวบ้านถึงบ้าน


ค.การทำให้ตำบลปลอดภัย และน่าอยู่

การลดความเสี่ยงของชาวบ้านที่จะได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน กำนันสมาน พร้อมคณะทีมงานได้ตั้งจุดตรวจเพื่อเฝ้าระวัง และค้นหายาเสพติด


กิจกรรมที่ยกมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กำนันสมานและคณะทีมงานได้ริเริ่มไว้ แม้ในวันนี้กำนันสมานจะไม่ได้เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนอีกต่อไป แต่คนที่อยู่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นกำนันสุนันท์ ไวยเมธี กำนันคนปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านจันดอน พุ่มคำ ผู้ใหญ่บ้าน และนายภานุวัฒน์ ทองสีสังข์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมกับทีมงาน U2T พร้อมสานงานต่อจากกำนันสมาน สวัสดิ์เฉลิมเพื่อให้ชุมชนกระแชงเป็นตำบลที่ยั่งยืนต่อไป